ครั้นรุ่งแจ้ง แสงทอง เริ่มส่องฟ้า | เตรียมมุ่งหน้า พาทุย ออกลุยทุ่ง |
ต้องตระเตรียม เสบียงบ่า นำมาปรุง | ไว้เกลื้อพุง ยามยาก ลำบากกาย |
พริกขี้หนู กับกระเทียม เตรียมใส่ครก | กะปิโขลก มะขามเปียก เรียกน้ำย่อย |
ไม่ชอบเผ็ด ใส่พริก แต่เพียงน้อย | จะให้ดี ต้องได้ร้อย นับเม็ดเรียง |
เดินตามควาย ตาส่าย หามังสา | ได้กุ้งหอย ปูปลา จะดียิ่ง |
กบเขียดแย้ บึ้งบอด ยอดจริงๆ | ทุกๆสิ่ง ไม่ซื้อหา ราคาแพง |
เก็บผักบุ้ง ชายคันนา นำมาหั่น | สารพัน ผักใด ใส่ได้สิ้น |
พอตกเที่ยง ได้เวลา จะต้องกิน | บ่ายหน้าผิน หาเพื่อน เตือนกันมา |
นำเอาดิน มาซ้อน ทำก้อนเสา | ใช้แทนเตา หุงต้ม พอสมหมาย |
ภาชนะ เลือกได้ ตามสบาย | กะทะหม้อ ใช้ได้ ไม่สำคัญ |
ตักน้ำจาก รอยควาย ตั้งให้ร้อน | โยนน้ำพริก ทั้งก้อน เข้าผสม |
พอเดือดดี นำเนื้อใส่ ให้พอจม | เริ่มส่งกลิ่น ลอยลม หอมชื่นใจ |
นำผักใส่ ลงไป กระเพราพร้อม | มาเร็วล้อม วงเข้า เพื่อนเราเอ๋ย |
ใช้มือเปิบ ตามประสา ที่เราเคย | ใครหิวกิน ได้เลย ไม่ต้องรอ |
มีเรื่อง พอสนุก ได้หัวร่อ | ไม่ขัดคอ รักกัน ฉันพี่น้อง |
ครั้นอิ่มเสร็จ ได้เวลา บ่ายพอดี | ตาริบหรี่ อยากเอนหลัง ลงนั่งพิง |
ควายเซาร่ม ลมเย็นพัด อากาศเยี่ยม | ผ้าขาวม้า ปูเตรียม พอได้ที่ |
เอนหลังหลับ พักกาย สบายดี | แสนสุขี ชีวิตเรา ชาวท้องนา |
โดย ครูศิริวรรณ มงคลคูณ
ครู ค.ศ.2 โรงเรียนวัดหนองผักนาก
สำนักงานเขตพื้นที่สุพรรณบุรี เขต 3
เครื่องปรุง
1. เนื้อสัตว์ หมู ไก่ ปลา ฯลฯ (ตามใจชอบ)
2. แตงไทยอ่อน ผักบุ้ง
3. หน่อไม้ดอง
4. ใบมะกอก
5. มะเขือ
6. กล้วยน้ำว้าดิบ
7. ถั่วพู
8. กระเพรา
เครื่องปรุงน้ำพริกแกง
1. พริกขี้หนูแห้ง
2. กระเทียม
3. กะปิ
4. มะขามเปียก
วิธีทำ
1. ตำเครื่องปรุงน้ำพริกให้ละเอียด
2. หั่นเนื้อสัตว์ ผัก เตรียมให้พร้อม
3. ใส่เนื้อสัตว์พอเดือด
4. นำผักใส่
5. ปรุงรสใส่ใบกระเพรา
หมายเหตุ ควรรับประทานขณะร้อน
เมื่อเอ่ยถึงเมืองสุพรรณชาวต่างเมืองมักจะนึกถึงสำเนียงพูดที่เหน่อเป็นสิ่งแรกถ้าถามถึงเอกลักษณ์ประจำตัวของคนสุพรรณแล้วไม่มีใครกล้าปฏิเสธในเรื่องนี้ และยังมีอีกหลายสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นคนสุพรรณ สิ่งหนึ่งที่หลายท่านได้ทราบกันดีอยู่แล้วก็คือในบรรดานักร้องลูกทุ่งที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาในอดีตไม่ว่าจะเป็น ไวพจน์ เพชรสุพรรณ สุรพล สมบัติเจริญ สังข์ทอง สีใส สายัณห์ สัญญา ศรเพชร ศรสุพรรณ พุ่มพวง ดวงจันทร์ บุคคลที่เอยนานมา ล้วนเป็นชาวสุพรรณโดยกำเนิดทั้งสิ้น จนมีการกล่าวไว้ว่าสุพรรณเคยเป็นดินแดนเพลงที่เป็นเช่นนี้เพราะการดำเนินชีวิตของคนสุพรรณบุรีในสมัยก่อนมีความเกี่ยวพันกับการร้องเพลงในทำนองต่างๆมาตลอด ทั้งนี้อาจมาจากเหตุผลที่ว่า คนสุพรรณมีนิสัยชอบพูดคำคล้องจอง ให้จังหวะด้วยลักษณะสัมผัส ประกอบกับคำในภาษาไทยมีวรรณยุกต์กำกับ จึงทำให้คำมีเสียงสูงต่ำเหมือนเสียงดนตรี และเมื่อประดิษฐ์ทำนองง่ายๆ เข้าไป ก็สามารถสร้างบทเพลงร้องขึ้นมาได้
จากหลักฐานในศิลาจารึก พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พุทะศักราช ๑๘๒๕ จารึกที่ ๑ บรรทัดที่ ๑๘ – ๒๐ (กรมศิลปากร ๒๕๒๗ : ๑๓ ) ดังความว่า “ … ด้วยเสียงพลาด เสียงพิณ เสียงเลื้อน เสียงขับ ใครจักมักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื้อน เลื้อน ….” จากข้อความดังกล่าว ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ กล่าวว่า เสียงเลื้อน เสียงขับ คือการร้องเป็นทำนองเสนาะ ส่วนท้องสืบ ศุภะมารค ชี้แจ้งว่า “ เลื้อน ” ตรงกับภาษาถิ่นว่า “ เลิ่น ”
หมายถึงการอ่านหนังสือเอื้อนเสียงเป็นทำนอง ซึ่งคล้ายกับประเสริฐ ณ นคร อธิบายว่า “ เลื้อน” เป็นภาษาถิ่นแปลว่า “การอ่านทำนองเสนาะ” จากความคิดเห็นของผู้รู้ดังกล่าวทำให้เชื่อได้ว่าการอ่านทำนองเสนาะของไทยมีมานานแล้ว โดยเรียกเป็นภาษาถิ่นว่า “เลื้อน”
ดังนั้นการอ่านทำนองเสนาะจึงมีความผูกพันกับการร้องเพลงพื้นบ้าน ในทำนองต่างๆ ของคนไทยในสมัยก่อนอย่างแยกกันไม่ออก
สุพรรณยุรีมีเพลงพื้นบ้านอยู่มากมายหลายชนิด ล้วนเป็นเพลงที่ชาวบ้านในท้องถิ่นได้สร้างสรรค์แบบแผนการร้อง การเล่นและสำเนียงภาษาที่ร้องแตกต่างกันไปตามความนิยมในแต่ละท้องถิ่นของตนเอง เพลงพื้นเมืองดังกล่าวส่วนใหญ่จะนิยมร้องกันในเทศกาลวันสำคัญที่มีการชุมนุมของผู้คนในหมู่บ้าน เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันทอดกฐิน วันทอดผ้าป่า
ตรุษสงกรานต์ แม้กระทั่งเข้าไปเกี่ยวข้องกับวิถีการดำรงชีวิต เช่น กิจกรรมงานเกี่ยวข้าว นวดข้าว เป็นต้น ซึ่งได้แก่เพลงอีแซว เพลงพวงมาลัย เพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงชักกระดาน เพลงสงฟาง เพลงปรบไก่ และเพลงพิษฐาน เพลงเหล่านี้เป็นเพลงพื้นบ้านที่เคยเป็นที่นิยมเล่นของเมืองสุพรรณในอดีต แต่ปัจจุบันหาดูแทบไม่ได้แล้ว นอกจากบางแห่งที่ยังอนุรักษ์ไว้อยู่
ในสมัยอดีตที่ผ่านมา จะขอแนะนำงานชุมนุมใหญ่งานหนึ่งซึ่งเป็นงานในช่วงวันขึ้นปีใหม่ของไทย นั้นก็คือวันสงกรานต์ที่ชาวบ้านทุกเพศทุกวัยจะพากันนำอาหารคาวหวานรสเลิศไปทำบุญกันที่วัด เนื่องจากมีผู้คนมาชุมนุมกันที่วัดโดยปริยาย พวกที่เดินทางทางเรือก็จะเล่นเพลงเรือ พวกที่เดินทางทางบกก็จะเล่นเพลงอีแซว เพลงปรบไก่มาตลอดทาง สร้างความสนุกสนานครื้นเครงแก่ผู้มาร่วมในงานอย่างมากมาย และเมื่อเดินทางมาถึงวัดก็จะทำบุญตักบาตรฟังธรรมเทศนาจากพระเสร็จแล้วพ่อเพลง แม่เพลง ก็จะลงไปยังที่พระอุโบสถ เพื่อขอพรพระอีกครั้งหนึ่ง เพราะคนโบราณถือว่าพระอุโบสถเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างมากการขอพรพระก็จะร้องเพลงกันทั่งไปว่า “ เพลงพิษฐาน”
ดังนั้นเพลงพิษฐานจะเกิดขึ้นเมื่อใดและที่ไหนมาก่อนนั้น ยังไม่มีหลักฐานยืนยันที่แน่นอนเพียงแต่ผู้เฒ่าผู้แก่ที่อายุ ๘๐ – ๙๕ ได้เล่าให้ฟังว่าร้องเล่นกันมาตั้งแต่ปู่ย่าตาทวดของท่านแล้ว ถ้านับมาถึงปัจจุบันก็น่าจะเกิดขึ้นมากกว่า ๑๐๐ ปีมาแล้ว และมีการเล่นกันในหลายจังหวัดของภาคกลาง เช่น จังหวัดสุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี กาญจนบุรี เป็นต้น
ทำนองเพลงพิษฐาน จึงถือว่าเป็นเพลงพื้นบ้านที่ปัจจุบันแทบจะหาดูหรือฟังกันไม่ได้แล้ว ก็มีเพียงการบอกเล่าจากครูบาอาจารย์หรือผู้เฒ่าผู้แก่บางท่านเท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะ เป็นเพลงที่มีเนื้อหาสาระไม่เน้นความสนุกสนานกระชากอารมณ์ไม่เป็นสองแง่สองมุมดำเนินด้วยจังหวะค่อนข้างช้าแต่ผู้ร้องต้องมีปฏิภาณดีและเป็นเพลงที่ปลุกจิตสำนึกของคนเราให้ปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของคุณงามความดีตามหลักธรรมของพระพุทธ-ศาสนา ถึงแม้จะร้องเชิงเกี้ยวพาราสีระหว่างชายหญิงบ้าง แต่ก็แสดงอารมณ์และท่าทางไม่เต็มที่เพราะกำลังเล่นอยู่ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ด้วยเหตุผงดังกล่าวทำให้การเล่นเพลงพิศฐานหายไปจากสังคมไทย แต่ก็ยังมีการสืบสานภูมิปัญญาดังกล่าว ณ บ้านหนองผักนาก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ในเทศกาลวันสงกรานต์เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ซึ่งข้าพเจ้านางศิริวรรณ มงคลคูณ มีความเห็นว่าควรจะอนุรักษ์เพลงพื้นบ้านเหล่านี้เอาไว้ จึงได้จัดบูรณาการ การเรียนรู้ไว้ในวิชาภาษาไทยและได้นำออกแสดงในกิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติ ของโรงเรียน วันที่ ๒๙ กรกฎาคมของทุกปี